การพัฒนาความเป็นเลิศทางด้านหุ่นยนต์ ของโรงเรียนนนทรีวิทยา
21/07/2010
ความเป็นมา
หุ่นยนต์ หรือ โรบอท (robot) คือเครื่องจักรกลชนิดหนึ่ง มีลักษณะโครงสร้างและรูปร่างแตกต่างกัน หุ่นยนต์ในแต่ละประเภทจะมีหน้าที่การทำงานในด้านต่าง ๆ ตามการควบคุมโดยตรงของมนุษย์ การควบคุมระบบต่าง ๆ ในการสั่งงานระหว่างหุ่นยนต์และมนุษย์ สามารถทำได้โดยทางอ้อมและอัตโนมัติ โดยทั่วไปหุ่นยนต์ถูกสร้างขึ้นเพื่อสำหรับงานที่มีความยากลำบาก เสี่ยงอันตราย
สถานศึกษาในระดับอุดมศึกษาหลายแห่งหรือองค์กรของภาครัฐ และเอกชน ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ และร่วมเป็นแรงผลักดันให้เยาวชนในชาติ พัฒนาองค์ความรู้ เพื่อให้ก้าวทันเทคโนโลยีของประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยการจัดให้มีการแข่งขันหุ่นยนต์ขึ้นในประเทศไทยหลายรายการ เพื่อให้นักศึกษาได้สามารถ นำความรู้ที่เรียนมาประยุกต์ใช้งานได้ เป็นการเสริมสร้างและพัฒนาทักษะ เพื่อนำความรู้ไปพัฒนาประเทศในอนาคต
ในงานศิลปหัตกรรมระดับชาติ ในปีการศึกษา2551 โรงเรียนนนทรีวิทยาได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้ทำหน้าที่จัดการแข่งขันหุ่นยนต์บังคับมือขึ้น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คณะผู้บริหาร ครูและนักเรียนชมรมนนทรีคอมพิวเตอร์ ได้เห็นถึงความสำคัญ ของเทคโนโลยีดังกล่าว จึงมีการส่งเสริมพัฒนานักเรียนในเรื่องดังกล่าวโดยเริ่มต้นจากนักเรียนผู้ที่มีความสนใจในชมรมนนทรีคอมพิวเตอร์ ส่งตัวแทนเข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์ในหลายๆ ครั้งเพื่อเป็นการฝึกทักษะประสบการณ์แก่นักเรียน
กระบวนการฝึกฝนนักเรียนเพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน
ในการฝึกนักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันนอกจากจะได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารโรงเรียนแล้วนั้น ยังเป็นเป็นการร่วมมือระหว่างครูผู้ฝึกสอนและผู้ปกครองของนักเรียน โดยในการฝึกสอนนั้นครูผู้ฝึกได้ใช้กระบวนการทางพุทธศาสนานั้นคือ อิทธิบาท 4 ซึ่งแปลว่า บาทฐานแห่งความสำเร็จ อันได้แก่
1. ฉันทะ ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น
2. วิริยะ ความพากเพียรในสิ่งนั้น
3. จิตตะ ความเอาใจใส่ฝักใฝ่ในสิ่งนั้น
4. วิมังสา ความหมั่นสอดส่องในเหตุผลของสิ่งนั้น
ซึ่งเป็นกระบวนการที่คล้ายกับวงล้อคุณภาพ PDCA นั่นเอง
ฉันทะ คือ ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น กล่าวคือ เกิดจากการที่นักเรียนได้เห็นถึงความสำคัญและมีความสนใจของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ และมีความมุ่งมั่นที่จะศึกษาถึงแม้ว่ายังขาดประสบการณ์ในเรื่องของหุ่นยนต์ก็ตาม แต่ก็ได้มีการวางแผนทำโครงการหุ่นยนต์ในโรงเรียนเพื่อเตรียมพร้อมในการพัฒนานักเรียนด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์
วิริยะ คือความพากเพียรในสิ่งนั้น กล่าวคือ เมื่อขาดประสบการณ์รวมทั้งขาดความรู้ดังกล่าวผู้ฝึกสอนจึงได้ดำเนินการดังนี้
1. ครูผู้ฝึกสอนหาความรู้เพิ่มเติมในการแข่งขัน การสร้างและกติกาการแข่งขัน
2. อบรม อธิบายการสร้างหุ่นยนต์แก่นักเรียน โดยเชิญผู้รู้จากที่อื่นหรือจากครูผู้ฝึกสอนเอง
3. ระดมสมองออกแบบหุ่นยนต์แต่ละแบบซึ่งเกิดจากองค์ความรู้ในการแข่งขันและค้นหาข้อมูล หาจุดดีในหุ่นแต่ละแบบ
4. กำหนดเวลาในการสร้างหุ่นยนต์และซ้อมหุ่นยนต์ หลังเลิกเรียนในทุกวัน
5. ก่อนทำการแข่งขันยังจัดเข้าค่ายหุ่นยนต์เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมในการแข่งขัน
จิตตะ คือความเอาใจใส่ฝักใฝ่ในสิ่งนั้น กล่าวคือเมื่อมีการออกแบบเรียบร้อยแล้วก็เริ่มต้นให้นักเรียนสร้างชิ้นส่วนของหุ่นยนต์แต่ละส่วน โดยครูคอยติดตาม กำกับและสอนในกระบวนการทำงานในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทักษะ และคอยแนะนำให้นักเรียนคอยเอาใจใส่และตั้งใจในการทำชิ้นงาน ตามกำหนดเวลาที่ได้วางแผนเอาไว้ เพราะในการทำงานนั้นบางครั้งใช้เวลานาน ดังนั้นก็จะมีบางครั้งที่นักเรียนขาดการเอาใจใส่ดังนั้นผู้ฝึกสอนจึงคอยให้กำลังใจและกระตุ้นนักเรียนให้สามารถทำตามภาระงานที่ได้กำหนดไว้ อนึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากนักเรียนที่สนใจทุกคน
วิมังสา คือ ความหมั่นสอดส่องในเหตุผลของสิ่งนั้น กล่าวคือ ในระยะแรกของการดำเนินงานนั้นก็ได้ประสบปัญหาในหลายด้านอันเกิดจากความไม่พร้อมและประสบการณ์ แต่ก็ได้มีการนำข้อผิดพลาดในการแข่งขันรวมทั้งการสร้างหุ่นยนต์แต่ละครั้งมาวิเคราะห์ถึงสาเหต่ในข้อผิดพลาดในทุกครั้ง โดยผู้ฝึกสอนจะเน้นให้นักเรียนได้วิเคราะห์จากตนเองก่อนว่ามีข้อบกพร่องอย่างไรแล้วจึงค่อยสอดแทรกข้อบกพร่องที่ผู้ฝึกสอนเองเห็น ซึ่งจากการที่ได้ผ่านมาทำให้รู้ว่าการแข่งขันใดๆก็ตามจะประกอบไปด้วยส่วนสำคัญอยู่ด้วยกัน 2 ประการ คือ ตัวหุ่นยนต์ที่เราได้สร้างขึ้นและความพร้อมของนักเรียนที่เข้าแข่งขัน ซึ่งก็ได้พยายามแก้ไขโดยหากปัญหาเกิดจากตัวหุ่นยนต์เองก็จะดำเนินการระดมมองร่วมกับนักเรียนวิเคราะห์จุดดี จุดด้อยและปรับปรุงพัฒนามาโดยลำดับ แต่หากเกิดจากนักเรียนที่เข้าแข่งขัน ก็จะพยายามให้นักเรียนฝึกซ้อมให้มากขึ้นรวมถึงการนั่งสมาธิเพื่อลดความกดดันในการเข้าแข่งขัน
0 ความคิดเห็น