เริ่มต้นสร้างสรรค์งานด้วยแผนที่ความคิด (MIND MAP)

เริ่มต้นสร้างสรรค์งานด้วยแผนที่ความคิด (MIND MAP) 



ที่มารูปภาพ http://blog.iqmatrix.com/how-to-mind-map
  


            การสร้างสรรค์งานเป็นขั้นตอนหรือกระบวนการคิดที่ค่อนข้างอยากและซับซ้อน ขึ้นอยู่กับการเรียบเรียงความคิด ความสามารถในการฝึกฝนและเรียนรู้ รวมถึงประสบการณ์ของแต่ละคน  ดังนั้นผลงานที่ถูกสร้างสรรค์ด้วยความคิดที่ดีนั้นจึงค่อนข้างน้อย แต่อย่างไรก็ตามยังมีกระบวนการและวิธีฝึกฝนเพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ โดยใช้การคิดแบบแผนที่ความคิดหรือที่เราเรียกว่า Mind Map ซึ่งเป็นวิธีการฝึกการทำงานของสมองทั้งสองซีก เพื่อ ให้เกิดความคิดเป็นขั้นตอนและเชื่อมโยงกันอย่างชัดเจน ปัจจุบันในการศึกษาของไทยได้ใช้เทคนิค Mind Map มาใช้ประกอบการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษา

แผนที่ความคิด (MIND MAP) คืออะไร
  ที่มารูปภาพ http://iam.hunsa.com/daejongkon/article/99862

แผนที่ความคิด (MIND MAP) เป็นการนำเอาทฤษฎีที่เกี่ยวกับสมองไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด การเขียนแผนที่ความคิด (MIND MAP)นั้นเกิดจากการใช้ทักษะทั้งหมดของสมอง หรือเป็นการทำงานร่วมกันของสมองทั้ง 2 ซีก คือสองซีกซ้ายและซีกขวา ซึ่งสมองซีกซ้ายจะทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ คำ ภาษา สัญลักษณ์ ระบบ ลำดับ ความเป็นเหตุผล ตรรกวิทยา ส่วนสมองซีกขวาจะทำหน้าที่สังเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ จินตนาการ ความงาม ศิลป จังหวะ โดยมีแถบเส้นประสาทคอร์ปัสคอโลซั่มเป็นเสมือนสะพานเชื่อม
แผนที่ความคิด (MIND MAP) เป็นวิธีการบันทึกความคิดเพื่อให้เห็นภาพของความคิดที่หลากหลายมุมมอง ที่กว้าง และที่ชัดเจน โดยยังไม่จัดระบบระเบียบความคิดใดๆทั้งสิ้น เป็นการเขียนตามความคิด  ที่เกิดขึ้นขณะนั้น การเขียนมีลักษณะเหมือนต้นไม้แตกกิ่งก้าน สาขาออกไปเรื่อยๆ ทำให้สมองได้คิดได้ทำงานตามธรรมชาติอย่างและมีการจินตนาการกว้างไกล
แผนที่ความคิด (MIND MAP) ยังเป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้ในการบันทึกความคิดของการอภิปรายกลุ่ม หรือการระดมความคิด  โดยให้สมาชิกทุกคนเสนอความคิดเห็น และวิทยากรจะทำการ จดบันทึกด้วยคำสั้นๆ   คำโตๆ ให้ทุกคนมองเห็น พร้อมทั้งโยงเข้าหากิ่งก้านที่เกี่ยวข้องกัน เพื่อรวบรวมความคิดที่หลากหลายของทุกคน ไว้ในแผ่นกระดาษแผ่นเดียว ทำให้ทุกคนได้เห็นภาพความคิดของผู้อื่นได้ชัดเจน และเกิดความคิดใหม่ต่อไปได้

ความเป็นมาของแผนที่ความคิด(MIND MAP)

 ที่มารูปภาพ http://www.mapcom.fr/une-action-de-formation/

โทนี บูซาน (Tony Buzan) ชาวอังกฤษ เป็นผู้ริเริ่มนำเอาความรู้เรื่องสมองมาปรับใช้กับการเรียนรู้ของเขา
โดยพัฒนาการจากการจดบันทึกแบบเดิมที่จดบันทึกเป็นตัวอักษรเป็นบรรทัด ๆ เป็นแถว ๆ ใช้ปากกาหรือดินสอสีเดียวมาเป็นการบันทึก ด้วยคำ ภาพ สัญลักษณ์ แบบแผ่เป็นรัศมีออกรอบ ๆ ศูนย์กลางเหมือนกับการแตกแขนงของกิ่งไม้โดยใช้สีสัน ต่อมาเขาก็พบว่าวิธีที่เขาใช้นั้นสามารถนำไปใช้กับกิจกรรมอื่นในชีวิตส่วนตัวและชีวิตการงานได้ด้วย เช่น ใช้ในการวางแผน การตัดสินใจ การช่วยจำ การแก้ปัญหา การนำเสนอ การเขียนหนังสือ เป็นต้น ซึ่งโทนี บูซาน ได้เขียนหนังสือ Use you Head (ใช้หัวคิด) และ Get Ahead (ใช้หัวลุย) ร่วมกับแวนด้า นอร์ธ (Vanda North) และนายธัญญา ผลอนันต์ ผู้แปลเป็นฉบับภาษาไทย ซึ่งเป็นผู้ที่นำแนวคิด วิธีการน้ำเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทย ผู้เขียนได้มีโอกาสศึกษาเรื่องนี้กับคุณธัญญา ผลอนันต์ และพบว่าวิธีการของ MIND MAP นั้นสามารถนำไปใช้ได้ทั้งชีวิตส่วนตัวและการงานจริง และเห็นว่าถ้านำแนวคิด เทคนิค วิธีการนี้ขยายผลในการศึกษา น่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับผู้ที่มีหน้าที่จัดการเรียนรู้ เริ่มตั้งแต่การวางแผนจัดการเรียนรู้ การจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในการเรียนรู้ สำหรับผู้เรียนนั้นจะสามารถพัฒนาทักษะในการเรียนรู้ ศาสตร์และศิลปะด้านต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น สามารถช่วยคิด จำ บันทึก เข้าใจเนื้อหา การนำเสนอข้อมูลและช่วยแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้การเรียนรู้เป็นเรื่องที่สนุกสนาน มีชีวิตชีวายิ่งขึ้น



ที่มารูปภาพ www.thinkbuzan.com
หลักการทำ Mind Map
1. เริ่มด้วยภาพสีตรงกึ่งกลางหน้ากระดาษ
2. ใช้ภาพให้มากที่สุด ในMIND MAP ของคุณตรงไหนที่ใช้ภาพได้ให้ใช้ก่อนคำสำคัญ (Key Word)
3. ควรเขียนคำสำคัญบรรจงตัวใหญ่ ๆ เป็นภาษาอังกฤษให้ใช้ตัวพิมพ์ใหญ่
4. เขียนคำสำคัญเหนือเส้นและแต่ละเส้นต้องเชื่อมต่อกับเส้นอื่น ๆ
5. คำสำคัญ ควรจะมีลักษณะเป็น "หน่วย" โดยคำสำคัญ 1 คำต่อเส้น 1 เส้น คำละเส้น
6. ระบายสีให้ทั่ว MIND MAP
7. เพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ควรปล่อยให้หัวคิดมีอิสระมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

วิธีการเขียน Mind Map
1.เตรียมกระดาษเปล่าที่ไม่มีเส้นบรรทัดและวางกระดาษภาพแนวนอน
2.วาดภาพสีหรือเขียนคำหรือข้อความที่สื่อหรือแสดงถึงเรื่องจะทำ MIND MAP กลางหน้ากระดาษโดยใช้สีอย่างน้อย 3 สีและต้องไม่ตีกรอบด้วยรูปทรงเรขาคณิต
3.คิดถึงหัวเรื่องสำคัญที่เป็นส่วนประกอบของเรื่องที่ทำ MIND MAP โดยให้เขียนเป็นคำที่มีลักษณะเป็นหน่วย หรือเป็นคำสำคัญ (KEY WORD) สั้น ๆ ที่มีความหมาย บนเส้นซึ่งเส้นแต่ละเส้นจะต้องแตกออกมาจากศูนย์กลางไม่ควรเกิน 8 กิ่ง
4.แตกความคิดของหัวเรื่องสำคัญแต่ละหัวเรื่องในข้อ 3 ออกเป็นกิ่งหลาย ๆ กิ่ง โดยเขียนคำหรือวลีบนเส้นที่แตกออกไป ลักษณะของกิ่งควรเอนไม่เกิน 60 องศา
5.แตกความคิดรองลงไปที่เป็นส่วนประกอบของแต่ละกิ่ง ในข้อ 4 โดยเขียนคำหรือวลีเส้นที่แตกออกไป ซึ่งสามารถ แตกคิดความคิด ออไปได้เรื่อย ๆ ตามที่ความคิดจะไหลออกมา
6.การเขียนคำ ควรเขียนด้วยคำที่เป็นคำสำคัญ (KEY WORD) หรือคำหลัก หรือเป็นวลีที่มีความหมายชัดเจน
7.คำ วลี สัญลักษณ์ หรือรูปภาพใดที่ต้องการเน้นอาจใช้วิธีการทำให้เด่นเช่น การล้อมกรอบ หรือใส่กล่อง เป็นต้น
8.ตกแต่ง MIND MAP ที่เด็กเขียนด้วยความสนุกสนานทั้งเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและเรื่องไก่ในระดับ ป.3, ป.4 ซึ่งให้ทั้งภาพและแนวคิดที่เชื่อมโยงต่อกัน

ข้อดีของการทำแผนที่ความคิด
1.   ทำให้เห็นภาพรวมกว้าง ๆ ของหัวข้อใหญ่ หรือขอบเขตของเรื่อง
2.   ทำให้สามารถวางแผนเส้นทางหรือตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง เพราะรู้ว่าตรงไหนกำลังจะไปไหนหรือผ่านอะไรบ้าง
3.   สามารถรวบรวมข้อมูลจำนวนมากลงไว้ในกระดาษแผ่นเดียวกัน
4.   กระตุ้นให้คิดแก้ไขปัญหา โดยเปิดโอกาสให้มองเห็นวิธีใหม่ ๆ ที่สร้างสรรค์
5.   สร้างความเพลิดเพลินในการอ่านและง่ายต่อการจดจำ


ที่มา

สดายุ  ทวีทรัพย์นวกุล. รู้จักกับแผนที่ความคิด. สืบค้นเมื่อ 7 มิถุนายน 2556. เข้าได้จาก
      http://www.krusadayu.com/freemind/content/comtent01/content01.html.

คณะทำงาน KM สำนักงานเกษตรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. แผนที่ความคิด(MIND MAP)(2554). สืบค้นเมื่อ
   7 มิถุนายน 2556. เข้าได้จาก http://www.flas.kps.ku.ac.th/forum/index.php?topic=51.0





แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น